การเยี่ยมประเมินสถาบนเพื่อการรับรองปริญญาทางเภสัชศาสตร์ (มิ.ย.-ก.ย.56)

     การรับรองปริญญาเภสัชศาสตร์ :คณะกรรมการการศึกษาเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม
                                                โดย ภญ. รศ. ดร. โพยม วงศ์ภูวรักษ์ 
เลขานุการคณะกรรมการการศึกษาเภสัชศาสตร์

คณะกรรมการการศึกษาเภสัชศาสตร์ชุดปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งโดยสภาเภสัชกรรมเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๖ โดยรับมอบหมายจากสภาเภสัชกรรมให้มีหน้าที่ดังนี้

(๑)  ศึกษาติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการทางเภสัชศาสตร์และวิชาชีพเภสัชกรรม

(๒)  ให้ความเห็นการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรเภสัชศาสตร์และเกณฑ์มาตรฐาน

สถาบันให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการในระดับนานาชาติ  เพื่อเสนอสภาเภสัชกรรมพิจารณา

และประกาศใช้

(๓)  พิจารณาเสนอให้ความเห็นชอบ  หรือเพิกถอนความเห็นชอบหลักสูตรเภสัชศาสตร์  และการรับรองสถาบัน ให้คณะกรรมการสภาเภสชกรรมพิจารณา

(๔)  ให้คำแนะนำสถาบันเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสถาบันและหลักสูตรเภสัชศาสตร์

(๕)  แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง  เพื่อช่วยดำเนินการตามอำนาจหน้าที่  ซึ่งคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการการศึกษาเภสัชศาสตร์แต่งตั้งในขณะนี้คือ คณะอนุกรรมการประเมินหลักสูตรและสถาบันเภสัชศาสตร์

ในฉบับนี้จะขอเล่าเฉพาะเรื่องการให้ความเห็นชอบหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตและการรับรองสถาบันเภสัชศาสตร์เพื่อการรับรองปริญญาเภสัชศาสตร์  ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างที่สภาเภสัชกรรมกำลังดำเนินการรับรองปริญญาคณะเภสัชศาสตร์ทั้ง ๑๙ แห่งทั่วประเทศ 

            สภาเภสัชกรรมกำหนดการประกันคุณภาพของเภสัชกรที่ผลิตจากสถาบันต่าง ๆ  ไว้ ๒  ประการคือ ๑) การรับรองปริญญาเภสัชศาสตร์ ๒) การสอบความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม  

   ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการรับรองปริญญาเภสัชศาสตร์ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการการศึกษาเภสัชศาสตร์  และเป็นการประกันคุณภาพในเชิงของกระบวนการดำเนินงานของสถาบัน เพื่อให้มั่นใจว่าสถาบันที่จะผลิตเภสัชกรมีการดำเนินงานเพื่อผลิตเภสัชกรอย่างมีคุณภาพ เป็นการปกป้องสิทธิของผู้เข้าเรียน   เพราะหากไม่มีกระบวนการรับรองปริญญาโดยสภาเภสัชกรรมตั้งแต่ต้น กว่าผู้เข้าเรียนจะทราบว่าสถาบันที่ตนเองเลือกเรียนไม่มีคุณภาพ ก็ต่อเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ซึ่งจะสายเกินไป  

ขั้นตอนการรับรองปริญญาเภสัชศาสตร์ มี ๒ ขั้นตอนดังนี้

(๑)  การให้ความเห็นชอบหลักสูตร  เมื่อคณะเภสัชศาสตร์จัดทำหลักสูตรใหม่หรือมีการปรับปรุงหลักสูตรเมื่อใดก็ตาม ต้องยื่นขอความเห็นชอบจากสภาเภสัชกรรมพิจารณาให้หลักสูตรมีมาตรฐานตามเกณฑ์ที่สภาเภสัชกรรมกำหนด   โดยคณะอนุกรรมการประเมินสถาบันและหลักสูตรเภสัชศาสตร์จะเป็นผู้ประเมินเบื้องต้นและนำเสนอผลการประเมินต่อคณะกรรมการการศึกษาเภสัชศาสตร์พิจารณา เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมต่อไป

 (๒)  การรับรองสถาบัน โดยคณะอนุกรรมการประเมินสถาบันและหลักสูตรเภสัชศาสตร์จะไปตรวจเยี่ยมคณะเภสัชศาสตร์ในสถาบันต่าง ๆ เพื่อเป็นการประกันว่าคณะเภสัชศาสตร์ต่าง ๆ มีการดำเนินการเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของสภาเภสัชกรรม และนำเสนอผลการประเมินต่อคณะกรรมการการศึกษาเภสัชศาสตร์พิจารณา เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมต่อไป

เมื่อสภาเภสัชกรรมให้ความเห็นชอบหลักสูตรและให้การรับรองสถาบันแล้วจึงถือว่าครบขั้นตอนของการรับรองปริญญา   บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันนั้นจึงจะมีสิทธิเข้าสอบความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้ 

สภาเภสัชกรรมต้องให้ความเห็นชอบหลักสูตรทุกครั้งที่คณะเภสัชศาสตร์มีการเปิดหลักสูตรใหม่หรือปรับปรุงหลักสูตร    แต่การตรวจประเมินเพื่อรับรองสถาบันนั้นจะมีการตรวจประเมินเพื่อรับรองสถาบันทุก ๕ปี   สำหรับคณะเภสัชศาสตร์ที่เปิดมานานแล้ว ทุกสถาบันไม่เคยได้รับการตรวจประเมินรับรองสถาบันมาก่อน เนื่องจากได้รับการรับรองสถาบันอัตโนมัติตามบทเฉพาะกาลของข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วย การรับรองปริญญา ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งทุกสถาบันกำลังจะหมดเขตการรับรองปริญญา ๕ ปีตามบทเฉพาะกาลดังกล่าว  ในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๖ นี้  โดยช่วงนี้คณะอนุกรรมการประเมินสถาบันฯ กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจรับรองสถาบันเก่าเหล่านี้อยู่

 สำหรับคณะเภสัชศาสตร์ที่เปิดใหม่ สภาเภสัชกรรมจะต้องให้การรับรองปริญญาโดยให้ความเห็นชอบหลักสูตรและให้การรับรองสถาบันก่อนเปิดรับนักศึกษา  และต้องมีการตรวจเยี่ยมเพื่อรับรองสถาบันทุกปีจนกว่าจะมีบัณฑิตที่เข้าสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมของสภาเภสัชกรรมเป็นครั้งแรกในปีนั้น และมีผลการสอบผ่านไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ติดต่อกัน ๓ ปี จึงจะสามารถประเมินรับรองสถาบันเป็นครั้งละ ๕ ปีได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยการเพิกถอนการรับรองปริญญาของสถาบันการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๓  ข้อ ๗ (๓)   

           คณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยในขณะนี้มีทั้งหมด ๑๙ สถาบัน โดยเป็นสถาบันเก่า ๑๒ แห่ง และมีสถาบันใหม่  ๗  แห่ง สำหรับสถาบันใหม่ที่ต้องมีการรับรองทุกปีสังกัดในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดังนี้  มหาวิทยาลัยพายัพ   มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย     มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสยาม  มหาวิทยาลัยพะเยา  มหาวิทยาลัยบูรพา  และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   

การรับรองสถาบันมีเกณณฑ์การพิจารณาหลายประการ โดยมีการพิจารณาปัจจัยที่บ่งบอกคุณภาพของการจัดการศึกษาทั้งหมด ๑๒ ปัจจัยดังนี้

ปัจจัยที่ ๑  คุณสมบัติของมหาวิทยาลัย/คณะ    

ปัจจัยที่  ๒  อาจารย์/บุคลากร    

ปัจจัยที่  ๓  เกณฑ์การรับนิสิต/นักศึกษา

ปัจจัยที่  ๔  ความพร้อมในการจัดการศึกษาหมวดวิชาในหลักสูตร

ปัจจัยที่  ๕  ความพร้อมของการจัดการฝึกปฏิบัติวิชาชีพ

ปัจจัยที่   ๖   ระบบการดูแลนิสิต/นักศึกษาและระบบอาจารย์ที่ปรึกษา

ปัจจัยที่   ๗   อาคารสถานที่ อุปกรณ์ ประกอบการเรียนการสอนและการวิจัย

ปัจจัยที่   ๘   ห้องสมุดและสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ปัจจัยที่   ๙  การบริหารจัดการ

ปัจจัยที่   ๑๐  แหล่งงบประมาณและประมาณการงบประมาณ

ปัจจัยที่   ๑๑  ระบบประกันคุณภาพการศึกษา

ปัจจัยที่   ๑๒  การวิจัย

        ผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูแบบประเมิน กศภ. ๒ แบบประเมินเพื่อรับรองสถาบันผลิตบัณฑิตทางเภสัชศาสตร์ ได้ที่เว็บไซต์ของสภาเภสัชกรรม www.pharmacycouncil.org    เข้าไปที่หน่วยงานในสังกัด และเลือก “คณะกรรมการการศึกษาฯ”  ในเว็บไซต์นี้ยังมีข้อมูลหลักสูตรและคณะเภสัชศาสตร์ที่สภาเภสัชกรรมให้การรับรองปริญญา   ตลอดจน ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวช้องกับการศึกษาเภสัชศาสตร์

         หากคณะเภสัชศาสตร์ใดมีผลการตรวจประเมินสถาบันไม่ผ่านตามปัจจัยข้อใดข้อหนึ่ง คณะเภสัชศาสตร์นั้นจะต้องปรับปรุงจนกว่าจะเป็นไปตามเกณฑ์ที่สภาเภสัชกรรมกำหนด จึงจะได้รับการรับรองปริญญา โดยเคยมีบางสถาบันที่ผลการประเมินสถาบันไม่ผ่าน ทำให้สภาเภสัชกรรมไม่สามารถรับรองปริญญาได้ ส่งผลให้ในปีการศึกษาต่อไป หากสถาบันนี้ยังรับนักศึกษาเข้าเรียน นักศึกษาที่เข้าเรียนในปีนั้นไม่มีสิทธิเข้าสอบความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม  และเพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิของผู้เข้าเรียนก่อนหน้าที่สภาเภสัชกรรมจะไม่ให้การรับรองสถาบัน นักศึกษาที่เรียนอยู่ในสถาบันนี้อยู่ก่อนแล้วยังมีสิทธิเข้าสอบความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้   

         จากการตรวจประเมินสถาบันที่ผ่านมามีคุณประโยชน์หลายประการในการประกันคุณภาพการผลิตเภสัชกร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ จำนวนรับนักศึกษา ซึ่งจากเดิมแต่ละสถาบันกำหนดจำนวนรับนักศึกษาด้วยตนเอง แม้มีเกณฑ์ของสำนักงานการอุดมศึกษากำหนดว่าจำนวนอาจารย์ประจำต่อนักศึกษา สำหรับคณะที่สอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพซึ่งคำนวณตามค่า Full Time Equivalent Student หรือเรียกย่อว่า  FTES มีสัดส่วนไม่มากกว่า  ๑: ๘   แต่ไม่มีหน่วยงานใดดูแลให้เป็นไปตามเกณฑ์นี้อย่างจริงจริง  ทำให้บางสถาบันมีจำนวนอาจารย์น้อย แต่เปิดรับนักศึกษาจำนวนมาก เกินกว่าเกณฑ์ FTES  ๑ : ๘   จากการกระบวนการรับรองปริญญาของสภาเภสัชกรรมทำให้สามารถควบคุมให้แต่ละสถาบันรับนักศึกษาในจำนวนที่เหมาะสมตามจำนวนอาจารย์ที่มีอยู่  นอกจากนี้ยังทำให้สถาบันต่าง ๆ ได้ทบทวนตนเองในการดำเนินการด้านต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อนักศึกษา เช่น คุณภาพและความเพียงพอของสถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอน  ความปลอดภัยของนักศึกษาในการเรียนวิชาปฏิบัติการ