ประกาศสภาเภสัชกรรม ที่ 6/2557 เรื่องเกณฑ์มาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการของสภาเภสัชกรรม พ.ศ.2557

 

             ตามที่สภาเภสัชกรรมได้มีการออกประกาศสภาเภสัชกรรม ที่ ๑๓/๒๕๕๖ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาเภสัชอุตสาหการ ของสภาเภสัชกรรม พ.ศ. ๒๕๕๖ ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๖ ทั้งนี้เพื่อให้สื่อได้ชัดเจนถึงองค์ความรู้หลักในสาขานี้ รวมทั้งลดปัญหาการใช้คำภาษาไทยที่หลากหลาย
จึงขอยกเลิกประกาศสภาเภสัชกรรม ที่ ๑๓/๒๕๕๖ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาเภสัชอุตสาหการ ของสภาเภสัชกรรม พ.ศ. ๒๕๕๖ ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๖

 

          สภาเภสัชกรรมได้ตระหนักถึงภารกิจในการสร้างมาตรฐานและควบคุมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมของประเทศ เพื่อให้เภสัชกรมีสมรรถนะในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตามที่สังคมคาดหวัง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ สภาเภสัชกรรมประกาศข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยการรับรองปริญญาของผู้ประกอบวิชาชีพฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนามาตรฐานการพิจารณาหลักสูตรและสถาบันการผลิตบัณฑิตทางเภสัชศาสตร์
เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ โดยกำหนดให้หลักสูตรการศึกษาเภสัชศาสตร์ของประเทศมีมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ของหลักสูตร ๖ปีทั้งหมด

 

            ในปีการศึกษา ๒๕๕๒ เป็นต้นมา ทิศทางการพัฒนาหลักสูตรของประเทศ ได้กำหนดออกมาใน ๒ ลักษณะ คือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม (pharmaceutical care) และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ด้านเภสัชอุตสาหการ (industrial pharmacy) ซึ่งต่อมาสภาเภสัชกรรมได้
ขอให้ราชบัณฑิตยสถานพิจารณาร่างศัพท์บัญญัติและนิยามศัพท์ industrial pharmacy และ industrial pharmacist  คณะกรรมการสภาเภสัชกรรมในการประชุมครั้งที่ ๒๒๓ (๑/๒๕๕๗) เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ มีมติให้ใช้คำตามข้อแนะนำของคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์เภสัชศาสตร์ของราชบัณฑิตยสถาน โดยให้ใช้ “เภสัชกรรมอุตสาหการ (industrial pharmacy)” แทนคำว่า “เภสัชอุตสาหการ (industrial pharmacy)” ซึ่งหมายถึง วิทยาการสาขาหนึ่งของวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์ (รวมทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้อง) การผลิตตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการถึงระดับอุตสาหกรรม การประกันคุณภาพ และการนำเภสัชภัณฑ์สู่ท้องตลาด และคำว่า “เภสัชกรอุตสาหการ industrial pharmacist” หมายถึง เภสัชกรที่ปฏิบัติงานด้านเภสัชกรรมอุตสาหการ เพื่อให้สื่อได้ชัดเจนถึงองค์ความรู้หลักในสาขานี้ รวมทั้งลดปัญหาการใช้คำภาษาไทยที่หลากหลาย และให้มีการประกาศเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ ของสภาเภสัชกรรม พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาเภสัชศาสตร์ ในด้านเภสัชกรรมอุตสาหการ การเตรียมความพร้อมของแหล่งฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพ และรวมถึงเป็นแนวทางในการประเมินความรู้ ความสามารถของบัณฑิตเภสัชศาสตร์ ที่จะขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เพื่อให้สังคมมีความั่นใจในสมรรถนะของเภสัชกรในด้านนี้ต่อไป

 

รายละเอียดตามไฟล์แนบท้ายนี้