ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

บทความวิชาการ
รู้จักคอมบูชา...ประโยชน์และผลต่อสุขภาพ
ชื่อบทความ รู้จักคอมบูชา...ประโยชน์และผลต่อสุขภาพ
ผู้เขียนบทความ รองศาสตราจารย์ ดร. อรสร สารพันโชติวิทยา, ภ.บ., ปร.ด. ภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
รหัสกิจกรรม 1007-1-000-002-05-2567
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 31 พ.ค. 2567
วันที่หมดอายุ 30 พ.ค. 2568
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
การดื่มชาเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของผู้คนในแถบเอเชีย ชามีหลายประเภท เช่น ชาดำ ชาเขียว ชาอู่หลง ชาขาว และชาสมุนไพร เป็นที่ทราบกันดีว่านอกจากความสดชื่นแล้ว การดื่มชายังมีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ มีการนำน้ำชามาหมักบ่มด้วยกลุ่มจุลินทรีย์เพื่อให้ได้ชาหมักที่เรียกว่าคอมบูชา (Kombucha) เกิดเป็นเครื่องดื่มโปรไบโอติก (probiotics) เพื่อสุขภาพ ประเทศจีนมีการผลิตและบริโภคคอมบูชาอย่างยาวนาน ต่อมาแพร่หลายสู่ยุโรปและประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันคอมบูชายังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากแนวทางการดูแลสุขภาพที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปคอมบูชาเตรียมจากการหมักใบชาดำกับน้ำตาล และใช้กลุ่มจุลินทรีย์ที่เรียกว่า symbiotic consortium of bacteria and yeasts หรือ SCOBY ในการหมัก ซึ่งสัดส่วนของปริมาณชา น้ำตาล และ SCOBY ตลอดจนอุณหภูมิ และเวลาในการหมักมีความแตกต่างกัน ขึ้นกับการกำหนดสภาวะการหมักที่เหมาะสมของแต่ละแหล่งผลิต คอมบูชาเป็นแหล่งของสารออกฤทธิ์ชีวภาพที่หลากหลาย ที่ได้มาจากทั้งชา ผลผลิตจากการหมัก และจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย ประกอบด้วยกรดอินทรีย์ กรดอะมิโน พอลิฟีนอล วิตามิน น้ำตาล โปรไบโอติก และสารต้านอนุมูลอิสระ การดื่มคอมบูชาช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร สารสกัดจากชามีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ และต้านมะเร็งอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำฟิล์มเซลลูโลส (cellulosic film) ที่เกิดขึ้นระหว่างการหมักมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย แม้ว่าคอมบูชาจะเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์อย่างมาก แต่ก็อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน ดังนั้นงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาตำรับคอมบูชา การศึกษาประโยชน์ และข้อจำกัดการบริโภคคอมบูชาในมนุษย์ ตลอดจนการใช้นวัตกรรมใหม่ในการพัฒนาประโยชน์จากฟิล์มเซลลูโลสจึงยังได้รับความสนใจในปัจจุบัน
คำสำคัญ
คอมบูชา, ใบชา, สโกปี้, กรดอินทรีย์, ฟิล์มเซลลูโลส, ฤทธิ์ชีวภาพ