ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิก ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 5 ธ.ค. 2567 และ 19 ธ.ค. 2567

การประชุมวิชาการ
โครงการหลักสูตร Non Degree ภายใต้เรื่อง การฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขามะเร็ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (รอบที่ 5)
ชื่อการประชุม โครงการหลักสูตร Non Degree ภายใต้เรื่อง การฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขามะเร็ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (รอบที่ 5)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รหัสกิจกรรม 1010-2-000-019-04-2567
สถานที่จัดการประชุม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
วันที่จัดการประชุม 01 มิ.ย. 2567 - 30 ก.ย. 2567
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรที่สนใจ 6 คนต่อปี
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 30 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นต่อระบบสาธารณสุขของทั่วโลก ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่าในช่วงปี 2007-2030 จะมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 7.9 ล้านคนเป็น 11.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยใหม่โรคมะเร็งทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 11.3 ล้านคนเป็น 15.5 ล้านคนสำหรับประเทศไทยพบว่าในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 64,000 รายต่อปีและมีการเสียชีวิตปีละประมาณ 30,000 ราย ปัจจุบันพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับแรกสูงกว่าโรคหัวใจและอุบัติเหตุติดต่อกันมาหลายปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
การรักษาโรคมะเร็งการรักษาโรคมะเร็งแบ่งออกได้ 3 ชนิดได้แก่ การผ่าตัด (Surgery) การฉายรังสี (Radiotherapy) และการให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ซึ่งได้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โรคมะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดหรือยับยั้งการดำเนินของโรคไม่ให้ลุกลามได้ แต่การตัดสินใจให้การรักษานั้นก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและสภาวะของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เป็นเหตุให้มีการปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยมะเร็งจากเดิมที่มุ่งเน้นรักษาเฉพาะตัวโรค (disease-focus approach) เป็นการมุ่งเน้นที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย (patient-focus approach) โดยรวมการรักษาแบบสนับสนุน (supportive care) เพื่อลดหรือป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการรักษาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็งด้วย
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการรักษามะเร็งซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งการใช้เป็นการรักษาหลักหรือร่วมกับการรักษาวิธีอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ยาเคมีบำบัดเป็นยาที่มีอันตรายต่อเซลล์ มีช่วงการรักษาที่แคบ (narrow therapeutic) และมีการให้ยาที่ยุ่งยากซับซ้อนจึงมีโอกาสในการเกิดปัญหาจากการใช้ยา (drug-related problem, DRP) ได้ง่าย โดยเฉพาะการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา (adverse drug reaction) ที่สามารถเกิดได้แม้ว่าระดับยาอยู่ในช่วงการรักษา การศึกษาพบว่าอุบัติการณ์การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาสูงถึงร้อยละ 74.3 โดยที่อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นนี้ ร้อยละ 88 สามารถทำนายการเกิดได้และร้อยละ 47.8 สามารถป้องกันได้ เภสัชกรจึงมีหน้าที่สำคัญในงานบริการเภสัชกรรมซึ่งได้แก่ การเตรียมยาเคมีบำบัด หรือยาที่มีพิษต่อเซลล์ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญ และอยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มงานเภสัชกรรม โดยมีหน้าทีจัดหาเตรียมยาและเก็บรักษายาให้ได้คุณภาพ เพื่อผู้ป่วยเฉพาะราย นอกจากนี้เภสัชกรยังมีบทบาทในการให้บริบาลทางเภสัชกรรม โดยมุ่งที่จะให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด ทั้งนี้ โดยยึดถือคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นหลักสำคัญ
ด้วยความตระหนักในความสำคัญของบทบาทเภสัชกรดังกล่าวในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลุ่มงานเภสัชกรรม และกลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของเภสัชกรที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจและมีความชำนาญ ในการบริบาลทางเภสัชกรรมนอกเหนือจากหน้าที่ในการเตรียมยาเคมีบำบัดดังที่กล่าวมาในข้างต้น จึงได้ร่วมมือจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขาผู้ป่วยมะเร็ง Certificate short course Training Program in Pharmaceutical Care (Oncology Pharmaceutical care) เป็นหลักสูตรระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม 16 สัปดาห์ เป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสภาเภสัชกรรม ตามประกาศสภาเภสัชกรรม ที่ 6/2559 เรื่อง รับรองหลักสูตรระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 และดำเนินการจัดฝึกอบรมในหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขามะเร็ง ภายใต้โครงการจัดการหลักสูตรNon Degree มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จนถึงปัจุบัน ร่วมกับกลุ่มงานเภสัชกรรม กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โดยมีเนื้อหาทางทฤษฎีสอดแทรกตลอดระยะของการฝึกปฏิบัติงานในการฝึกปฏิบัติงานบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคมะเร็ง และกำหนดให้เภสัชกรฝึกปฏิบัติงาน ณ หอผู้ป่วยเคมีบำบัดและคลินิกผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งเป็นสถานที่หลักในการบริบาลผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โดยเภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตร มีโอกาสปฏิบัติงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญในการบริบาลผู้ป่วย ระยะเวลาของการฝึกปฏิบัติงานเภสัชกรรมคลินิกบนหอผู้ป่วยเคมีบำบัดและคลินิกผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมตลอดหลักสูตร จำนวน 16 สัปดาห์ มีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 16 หน่วยกิต ประกอบด้วย ภาคทฤษฎี 2 หน่วยกิต และภาคปฏิบัติ14 หน่วยกิต โดยมีคณาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นผู้กำกับอย่างใกล้ชิด การฝึกปฏิบัติวิชาชีพจะเน้นเรื่อง กลไกการเกิดโรค และการบริบาลด้วยยาเคมีบำบัด โดยใช้กิจกรรม Pharmacotherapy Consultation และ Drug Information Services เป็นกลไกหลักในการเรียนการสอน เภสัชกรมีโอกาที่จะทำวิจัย (Research Projects) ให้ความรู้ด้านยา (In-service) แก่บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เช่น แพทย์ และ พยาบาล ตลอดจนการใช้ Evidence-Based Medicine มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วย หลักสูตรนี้เน้นถึงการทำให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจถึงหลักการทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเพื่อที่จะสามารถนำไปปฏิบัติตลอดจน ริเริ่มการบริบาลทางเภสัชกรรมได้จริงเมื่อจบหลักสูตรการอบรม
เภสัชกรที่สำเร็จการฝึกอบรมในหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาผู้ป่วยมะเร็ง Certificate in Pharmacy (Oncology Pharmaceutical care) และจะได้รับหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์สูงสุด ไม่เกิน 30 หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องต่อหลักสูตร
วัตถุประสงค์
1.เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีความพร้อมในส่วนของยาเคมีบำบัด ได้แก่ ด้านเภสัชวิทยา ฤทธิ์ในการทำลายเซลล์มะเร็ง พิษที่เกิดจากการใช้ยา ขนาดยา และวิธีการบริหารยา
2.เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีเข้าใจวัตถุประสงค์ของการใช้ยาเคมีบำบัดแบบสูตรผสม
3.เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีเข้าใจวัตถุประสงค์ของการใช้ยาเคมีบำบัดแบบสูตรผสมให้เภสัชกรได้ประยุกต์ใช้ความรู้จากการเตรียมผสมยาเคมีบำบัด และหลักในการบริหารยา มาช่วยในการบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยมะเร็ง
4.เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีเข้าใจวัตถุประสงค์ของการใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ
5.เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการทำวิจัยขอบเขตของโรคมะเร็ง(Cancer Research) ตลอดจนการประเมินยาใหม่ที่จะถูกนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
6.เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมได้ฝึกปฏิบัติงานการบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งบนหอผู้ป่วยเคมีบำบัดและคลินิกผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์

คำสำคัญ
Oncology Pharmaceutical care