ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิกที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568

การประชุมวิชาการ
โครงการจัดการหลักสูตร Non Degree ภายใต้เรื่อง การฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขาจิตเวช ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (รอบที่ 3)
ชื่อการประชุม โครงการจัดการหลักสูตร Non Degree ภายใต้เรื่อง การฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขาจิตเวช ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (รอบที่ 3)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รหัสกิจกรรม 1010-2-000-012-06-2568
สถานที่จัดการประชุม โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
วันที่จัดการประชุม 01 มิ.ย. 2568 - 30 ก.ย. 2568
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรที่สนใจ จำนวน 6 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 30 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันประชากรไทยป่วยด้วยโรคจิตเวชจำนวนมาก จากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิต ของคนไทยระดับชาติ ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งดำเนินการสำรวจในทุก 5 ปี เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคทางจิตเวช ปัญหาสุขภาพจิต สารเสพติด และการเข้าถึงบริการของคนไทย โดยทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชากรไทยอายุ18 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนส่วนบุคคลอย่างน้อย 3 เดือนเก็บข้อมูลระหว่างเดือนกรกฎาคม - กันยายน พ.ศ. 2556 จำนวน 4,727 คน ในจังหวัดภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และ กทม. โดยใช้เครื่องมือและการดำเนินงานตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกผลการสำรวจพบว่า โอกาสในการเกิดโรคหรือความชุกของกลุ่มโรคทางอารมณ์ (Affective disorders)ตลอดช่วงชีวิตของคนไทย เท่ากับ ร้อยละ 1.9 (1 ล้านคน) โดยในกลุ่มโรคนี้พบโรคซึมเศร้าร้อยละ 1.8 (9 แสนคน) ขณะที่ความชุกของกลุ่มโรควิตกกังวล (Anxiety disorders) พบร้อยละ 3.1 (1.6ล้านคน) ส่วนปัญหาจากการใช้สุราและสารเสพติด (Alcohol and substance use disorders) พบความชุกสูงถึง ร้อยละ 19.6 (10.1 ล้านคน) ซึ่งถือว่าสูงมากโดยพบปัญหาจากการใช้สุราร้อยละ 18.0 ( 9.3 ล้านคน) และพบปัญหาจากการใช้สารเสพติดร้อยละ 4.1 (2.1 ล้านคน) สำหรับความชุกของอาการทางจิตหลงผิดพบร้อยละ 0.9 ( 5 แสนคน) นอกจากนี้ยังพบปัญหาการฆ่าตัวตาย ร้อยละ 3.5 (1.8 ล้านคน)ภาวะติดบุหรี่ ร้อยละ 14.9 (7.7 ล้านคน) ในขณะที่ ภาวะติดการพนัน พบ ร้อยละ 0.9(4.6 แสนคน) นอกจากนี้จากการประกาศใช้ national service plan ทำให้มีการกำหนดมาตรฐานและสมรรถนะทางวิชาชีพในบุคลากรที่เข้าร่วม
เภสัชกรเองมีบทบาทสำคัญในทีมสหวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะในผู้ป่วยด้านจิตเวชซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ต้องใช้ระยะเวลาการรักษาที่ค่อนข้างนานและต่อเนื่อง อีกทั้งกลุ่มยาจิตเวช ถือเป็นกลุ่มยาที่มีปฏิกิริยาระหว่างยาทั้งในกลุ่มยาจิตเวชด้วยกันและยาในการรักษาโรคทางกาย และเป็นยาที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้มาก มีผลทำให้ต้องมีการติดตามการใช้ยาทั้งในด้านประสิทธิภาพของยาความร่วมมือในการรักษา และอาการไม่พึงประสงค์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยจิตเวชอยู่ในภาวะโรคสงบและในบางโรคทำให้ผู้ป่วยหายขาด สามารถกลับมามีชีวิตในสังคม ทำหน้าที่การงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
ปัญหาการขาดแคลนเภสัชกรที่ทำงานด้านจิตเวช ทั้งในระดับโรงพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงโรงพยาบาลชุมชน ประกอบกับเภสัชกรทั่วไปที่ทำงานยังไม่มีความรู้ความสามารถที่เพียงพอในการให้การบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยจิตเวช ทำให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชโดยส่วนใหญ่ อยู่ภายใต้การดูแลของพยาบาลที่ผ่านการอบรมเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชเป็นหลัก ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยโรคทางจิตเวช ได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมจากเภสัชกรอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่จะพัฒนาศักยภาพและทักษะสำหรับเภสัชกรในการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยจิตเวช เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในโรคและยาที่ใช้ทางจิตเวชมากขึ้น และสามารถทำงานร่วมกับที่สหสาขาวิชาชีพที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ แพทย์ทั่วไป พยาบาลเฉพาะทาง หรือเภสัชกรในการส่งต่อข้อมูล การดูแลผู้ป่วยจากโรงพยาบาลจิตเวชสู่โรงพยาบาลชุมชน หรือการดูแลผู้ป่วยจิตเวในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป จึงมีการพัฒนาหลักสูตรการบริบาลทางเภสัชกรรมระยะสั้นด้านจิตเวชขึ้น
หลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นบริบาลเภสัชกรรม สาขาจิตเวช จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การรับรองของวิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม (ตามประกาศฉบับที่ 37/2556) เพื่อที่จะพัฒนาทักษะของเภสัชกรที่ปฏิบัติงานด้านจิตเวช ในโรงพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชนและสถานพยาบาล อื่นๆให้สามารถริเริ่มและพัฒนางานบริบาลทางเภสัชกรรมตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบให้การดูแลด้านยาแก่ผู้ป่วยโรคจิตเวชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยมีผลการรักษาด้วยยาที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
การเรียนการสอนในหลักสูตรประกอบด้วยการเรียนรู้ ภาคทฤษฎีจากอาจารย์ และเภสัชกรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการบริบาลทางเภสัชกรรมและเภสัชบำบัดในโรคทางจิตเวช ในภาคปฏิบัติมีการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานทั้งการดูแลผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน และผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ อภิปรายกรณีศึกษาร่วมกับอาจารย์ เภสัชกรประจำแหล่งฝึก ทีมสหสาขาวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งมีการถ่ายทอดความรู้ทางด้านยาจิตเวช สารสนเทศด้านยา การพัฒนางานวิจัยจากงานประจำ เพื่อที่จะให้เภสัชกรผู้ผ่านการอบรมมีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถในการริเริ่ม พัฒนางานบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยจิตเวช และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านจิตเวชภายในองค์กรเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนทั่วไปเพื่อให้มีการดูแลผู้ป่วยโรคทางจิตเวชอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข
วัตถุประสงค์
1) เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจแนวทางการรักษาโรคจิตเวชที่พบบ่อย ได้แก่ โรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล การติดสารเสพติด
2) เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าในในยาจิตเวชด้านต่างๆ ได้แก่ กลไกการออกฤทธิ์ ขนาดยา อาการไม่พึงประสงค์ การติดตามระดับยาในเลือด
3) เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมสามารถค้นหาปัญหาการใช้ยาจิตเวช วางแผนติดตาม ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาได้
4) เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมสามารถมีแนวคิดในการทำวิจัยด้านการใช้ยาในผู้ป่วยจิตเวชและสามารถประเมินวรรณกรรมปฐมภูมิที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตและจิตเวชได้
5) เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมได้ฝึกปฏิบัติงานการบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยโรคจิตเวช ทั้งในหอผู้ป่วยจิตเวช และแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
คำสำคัญ