ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนสมาชิกที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ผ่านช่องทาง sms และ email ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568

การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการ เรื่อง การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสาธารณสุขด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อการพัฒนาการจัดบริการอย่างมีประสิทธิภาพ
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการ เรื่อง การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสาธารณสุขด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อการพัฒนาการจัดบริการอย่างมีประสิทธิภาพ
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-004-06-2568
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้องประชุม 606 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วันที่จัดการประชุม 04 -06 มิ.ย. 2568
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กลุ่มเป้าหมาย บุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานในโรงพยาบาลทุกระดับ เช่น แพทย์ เภสัชกร ฯลฯ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 15.75 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ หรือ Health Technology Assessment (HTA) เป็นการวิจัยเกี่ยวกับการประเมินความปลอดภัย ประสิทธิผล ต้นทุน ความคุ้มค่า ผลกระทบต่อองค์กร สังคม และจริยธรรม ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น ยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ การคัดกรอง มาตรการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการใช้เทคโนโลยีทางสุขภาพอย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและส่งผลต่อความยั่งยืนในระบบสุขภาพ ทั้งนี้ในระบบสุขภาพของประเทศไทยได้มีการนำเอาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพมาใช้กันอย่างแพร่หลายในระดับนโยบาย เช่น การพิจารณาเพื่อตัดสินใจในกระบวนการคัดเลือกผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพของชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ (Universal Coverage Benefits Package: UCBP) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมถึงการคัดเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ (National List of Essential Medicine: NLEM) ทั้งนี้ในกระบวนการคัดเลือกผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ความรู้และความเข้าใจในหลักการ เหตุผล และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการนำ HTA มาใช้ในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีด้านสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในกระบวนการนี้ นอกจากนี้ในระดับโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุข การพัฒนาการจัดบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจำเป็นต้องมีการนำหลักการของ HTA เข้ามาใช้ในการประเมินผลของกิจกรรม หรือ มาตรการต่างๆ ทั้งในแง่ของ ต้นทุนที่ใช้ไป ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งการประเมินเหล่านี้นอกจากจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาจากการทำงานประจำและเป็นการยกระดับการพัฒนางานที่รับผิดชอบให้ดียิ่งขึ้นและยังสามารถนำมาทำเป็นผลงานวิชาการเพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าในการปรับตำแหน่งได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม บุคลากรสาธารณสุขบางส่วนยังขาดองค์ความรู้ด้านระเบียบวิธีวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพตลอดจนประสบการณ์ในการทำวิจัย จึงทำให้ขาดความมั่นใจและความพร้อมในการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพและการพัฒนาผลงานวิชาการดังกล่าว
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงเห็นควรจัดโครงการฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้ด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสาธารณสุขในการพัฒนาผลงานวิจัยจากงานประจำด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นการอบรมจำนวน 2 ส่วน ได้แก่ การบรรยายให้ความรู้ด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (ส่วนที่ 1) และ การบรรยายให้ความรู้และ workshop เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขที่สนใจ ได้เรียนรู้ หลักการ กระบวนการและลงมือพัฒนาโครงร่างการวิจัยเพื่อนำไปพัฒนาผลงานวิชาการด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ สำหรับการขอตำแหน่งวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าในวิชาชีพและยกระดับการจัดบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (ส่วนที่ 2)
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลทุกระดับให้มีความรู้และความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ HTA
2. เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลทุกระดับด้านการจัดทำผลงานวิชาการด้านการ
ประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพดังต่อไปนี้
- การหาหัวข้อการวิจัยที่เหมาะสม
- การออกแบบการวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ
- การพัฒนาโครงร่างการวิจัย
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
การสมัครและลงทะเบียน สมัครพร้อมชำระเงินโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 026-443603-5 ชื่อบัญชี การประชุมวิชาการ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โปรดกรอกใบสมัคร online ทาง www.pharmacy.mahidol.ac.th/conference พร้อม scan และแนบไฟล์หลักฐานการโอนเงิน ค่าลงทะเบียน การร่วมประชุมที่คณะเภสัชศาสตร์ (onsite) วันที่ 4 มิถุนายน 2568 1,200 บาทต่อคน การร่วมประชุมช่องทางออนไลน์ (online) วันที่ 4 มิถุนายน 2568 600 บาทต่อคน การร่วมประชุมที่คณะเภสัชศาสตร์ (onsite) วันที่ 4 - 6, 27 มิถุนายน 2568 5,900 บาทต่อคน (สำหรับผู้สมัครในวัตถุประสงค์ที่ 2 จะต้องมีการส่งรายละเอียดหัวข้อที่สนใจในการพัฒนาโครงร่างการวิจัยตามแบบฟอร์มเพื่อประกอบการคัดเลือก) สำหรับศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับส่วนลดค่าลงทะเบียน 500 บาท ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานมหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุมได้โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้วและมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนจากต้นสังกัดได้ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0409.6/ ว 95 ลงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และระเบียบของแต่ละหน่วยงาน สอบถามข้อมูล ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ - หน่วยจัดกิจกรรมวิชาการ ที่โทรศัพท์หมายเลข 087-559-7393 E-mail: supattra.kon@mahidol.ac.th - ภาควิชาเภสัชกรรม รศ.ดร.ภญ. มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ E-mail: montarat.tha@mahidol.edu, คุณจารุกิตต์ บุญสิริ E-mail: jarukit.boo@mahidol.ac.th, คุณพิณพิศ แสงเภา, คุณพูนทรัพย์ มี้เจริญ โทรศัพท์หมายเลข 0-2644-8694