ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่ง sms และ email แจ้งเตือนสมาชิกผู้ที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ครั้งต่อไปในวันที่ 11 เมษายน 2568

การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมวิชาการการใช้ยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาลอย่างสมเหตุผล ครั้งที่ 2 (The 2nd Suddhavej Antimicrobial Stewardship Conference)
ชื่อการประชุม โครงการประชุมวิชาการการใช้ยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาลอย่างสมเหตุผล ครั้งที่ 2 (The 2nd Suddhavej Antimicrobial Stewardship Conference)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รหัสกิจกรรม 1009-2-000-004-05-2568
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้องประชุมวนิช วรรณพฤกษ์ 90 ที่นั่ง ชั้น 6 อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
วันที่จัดการประชุม 02 พ.ค. 2568
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรทั่วไป
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันพบการสั่งใช้ยาต้านจุลชีพ หมายรวมทั้งยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อไวรัสและยาต้านเชื้อรา มีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความไม่เหมาะสมของการสั่งใช้ยาเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ข้อบ่งชี้ในการใช้ยา, ขนาด/วิธีและรูปแบบการบริหารยา และระยะเวลาในการรักษา ทำให้ส่งผลเสียต่อผู้ป่วย เช่น เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา, สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และเพิ่มอัตราเชื้อดื้อต่อยา ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มอัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2555 พบผู้ป่วยดื้อยา 100,000 รายต่อปี พบอัตราการเสียชีวิต 40,000 รายต่อปี และมีมูลค่าการใช้ยาปฏิชีวนะสูงถึง 10,000 ล้านบาทต่อปีในผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยา เช่นเดียวกับข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคประเทศสหรัฐอเมริกาที่พบปัญหาการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และจากการรวบรวมข้อมูลในปี พ.ศ. 2556 พบการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยามากกว่า 2.6 ล้านคนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยามากกว่า 44,000 คนต่อปี
จากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา และสมาคมระบาดวิทยาสุขภาพทางการแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา ในการออกแนวทางเวชปฏิบัติเพื่อดำเนินโปรแกรมการส่งเสริมและกำกับการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในสถานพยาบาล โดยโปรแกรมการเปลี่ยนแปลงและชี้นำการใช้ยาต้านจุลชีพ หรือโครงการการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผล (Antimicrobial stewardship program ;ASP) ถูกกำหนดขึ้นและเริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อควบคุมดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ข้อบ่งใช้ ขนาดการรักษา การบริหารยา และระยะเวลาการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวในโรงพยาบาล ลดอัตราการเกิดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ และลดอาการไม่พึงประสงค์หรืออาการแทรกซ้อนจากการได้รับยาต้านจุลชีพ เช่น การติดเชื้อ C. difficile การเกิดหลอดเลือดดำอักเสบ (thrombophlebitis) เป็นต้น
ปัจจุบันได้มีแนวคิดในการนำโปรแกรมการเปลี่ยนแปลงและชี้นำการใช้ยาต้านจุลชีพหรือโครงการการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผล เข้ามาดำเนินงานของโรงพยาบาลภายใต้โครงสร้างของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด หรือคณะกรรมการการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยมีการจัดตั้งทีมส่งเสริมและกำกับการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพที่ประกอบไปด้วย แพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ เภสัชกรคลินิกเฉพาะทางโรคติดเชื้อ นักจุลชีววิทยา พยาบาลงานควบคุมโรคติดเชื้อ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ ผู้บริหารสถานพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง
กลยุทธ์ในโปรแกรมการเปลี่ยนแปลงและชี้นำการใช้ยาต้านจุลชีพ ประกอบด้วยการให้ความรู้ การจัดทำแนวทางการักษา การหมุนเวียนการใช้ยาต้านจุลชีพ (antimicrobial cycling) การสร้างแบบฟอร์มการสั่งใช้หรือประเมินยาต้านจุลชีพ (drug use evaluation form) การปรับเปลี่ยนยาต้านจุลชีพที่ออกฤทธิ์แคบ (de-escalation) ควบคุมการสั่งใช้ยาในขนาดที่เหมาะสม (dose optimization) การเปลี่ยนวิธีการบริหารยาจากทางหลอดเลือดดำเป็นการรับประทาน การจำกัดและขออนุมัติการใช้ยาต้านจุลชีพ (antibiotic restriction and authorization) และการทบทวนการสั่งใช้ยาและการให้ความเห็น (prospective audit and feedback) เป็นต้น
โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ดำเนินโครงการการใช้ยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาลอย่างสมเหตุผล (Antimicrobial Stewardship Program) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 (นำร่องโครงการ 1 ตุลาคม 2564) โดยได้ทำการประเมินและติดตามความสมเหตุผลของการได้รับยาต้านจุลชีพ ส่งผลให้มีความเหมาะสมของการสั่งใช้ยาต้านจุลชีพเพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพและค่าใช้จ่ายด้านยาต้านจุลชีพมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามแม้ว่าปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพมีแนวโน้มลดลงแต่ยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด รวมถึงคณะกรรมการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล จึงมีความเห็นให้ดำเนินโครงการต่อ รวมถึงให้คำแนะนำในด้านการให้ความรู้บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง การนำ local antibiogram มาใช้เป็น empirical therapy guidance และการปรับแบบฟอร์ม DUE เพื่อเพิ่มการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือให้คำแนะนำโดยเภสัชกรโรคติดเชื้อและแพทย์ผู้ทำการรักษามากขึ้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้การใช้ยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาลเป็นไปอย่างสมเหตุผล ทั้งในด้านข้อบ่งใช้ ขนาดและการบริหารยา รวมถึงระยะเวลาในการรักษา
2. เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านยา และระยะเวลาในการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
3. เพื่อลดอัตราการเกิดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล รวมถึงลดโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงจากการได้รับยาต้านจุลชีพที่ไม่เหมาะสม
4. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุ สมผลและการทำงานแบบสหวิชาชีพสำหรับบุคลากร ได้แก่ แพทย์ประจำบ้าน, พยาบาล และเภสัชกร
คำสำคัญ
Antimicrobial stewardship การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผล
วิธีสมัครการประชุม
https://forms.gle/qK8XxLRJgnRf5nm66 (ทั้งแบบ onsite , online)