ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่ง sms และ email แจ้งเตือนสมาชิกผู้ที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ครั้งต่อไปในวันที่ 18 เมษายน 2568

การประชุมวิชาการ
การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายงานคุ้มครองผู้บริโภคในการเฝ้าระวังและติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากผลิตภัณฑ์สุขภาพด้านยา เขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2568
ชื่อการประชุม การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายงานคุ้มครองผู้บริโภคในการเฝ้าระวังและติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากผลิตภัณฑ์สุขภาพด้านยา เขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2568
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รหัสกิจกรรม 1010-2-000-025-04-2568
สถานที่จัดการประชุม ห้องประชุมผาแต้ม ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี
วันที่จัดการประชุม 22 เม.ย. 2568
ผู้จัดการประชุม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรและผู้เกี่ยวข้องในเขตสุขภาพที่ 10 (จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดอำนาจเจริญ) จำนวน 100 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
"ยา" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่นอกจากจะมีประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรคแล้ว อีกด้านก็อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ด้วย ที่เรียกว่า อาการไม่พึงปะสงค์จากยา ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกคือ ผลข้างเคียงจากยา และการแพ้ยา โดยผลข้างเคียงจากยาเป็นผลจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ซึ่งสามารถทำนายการเกิดได้ ส่วนการแพ้ยาไม่สามารถทำนายการเกิดได้ จะต้องมีการหยุดยาและให้การรักษาอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น (ธิดา, จันทิมา, 2549) การแพ้ยาส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยได้ทั้งร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะแสดงออกทางผิวหนัง (บุญญวรรณ, พิมฤทัย, 2554; ศรัญญา และคณะ, 2549) มีความรุนแรง ตั้งแต่เล็กน้อยจนกระทั่งเสียชีวิต เมื่อผู้ป่วยเกิดการแพ้ยา ต้องมีการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยได้รับยาที่เคยแพ้ซ้ำ เพราะอาจเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแล รักษาพยาบาลเพิ่มโอกาสในการที่สถานพยาบาลนั้นจะถูกฟ้องร้อง (ธิดา, จันทิมา, 2549)
การเฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากผลิตภัณฑ์สุขภาพ การป้องกันแพ้ยาซ้ำและป้องกันการแพ้ยาที่รุนแรง จะเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้ยา เนื่องจากช่วยป้องกัยและช่วยลดความรุนแรงการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เภสัชกร จะต้องมีความรู็ ความเข้าใจในการเฝ้าระวัง และติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยากลุ่มที่ไม่เกิดอาการทันที และมีอาการแพ้รุนแรง และโรงพยาบาลต้องมีฐานข้อมูลในการตรวจสอบประวัติแพ้ยา เพื่อป้องกันแพ้ยาซ้ำ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากผลิตภัณฑ์สุขภาพรายบุคคล ของแต่ละโรงพยาบาลทั้งในจังหวัด และภายในเขตสุขภาพที่ซึ่งมีระบบการส่งต่อการรักษา ซึ่งปัจจุบันยังขาดการเชื่อมโยงฐานข้อมูลรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ระหว่างโรงพยาบาลทั้งในระดับจังหวัดและระดับเขตสุขภาพ ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพบรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ปีงบประมาณ 2567 ทั้งหมด 38,809 รายงาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ฯ ที่ร้ายแรง 8,705 รายงาน (22.43%) เขตสุขภาพที่ 10 มีการรายงานทั้งหมด 2,062 รายงาน (อุบลราชธานี 1,156 รายงาน, ศรีสะเกษ 361 รายงาน, ยโสธร 361 รายงาน, มุกดาหาร 149 รายงาน และอำนาจเจริญ 35 รายงาน) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ฯ ที่ร้ายแรง 663 รายงาน (32.15%)
ดังนั้น คณะกรรมการพัฒนาระบบเภสัชกรรม เขตสุขภาพที่ 10 จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากผลิตภัณฑ์สุขภาพ เขตสุขภาพที่ 10 เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายงาคุ้มครองผู้บริโภคในการเฝ้าระวังและติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากผลิตภัณฑ์สุขภาพด้านยา เขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2568 เพื่อป้องกันแพ้ยาซ้ำ และป้องกันการแพ้ยาที่รุนแรง และชี้แจงการจัดทำฐานข้อมูล รวมถึงการใช้งานระบบฐานข้อมูลรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เขตสุขภาพที่ 10 ให้แก่เภสัชกรและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้ป่วยและประชาชน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาเภสัชกรในเขตสุขภาพที่ 10 ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง ติดตาม และรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพของผู้ป่วย
2. เพื่อสร้างเครือข่ายเภสัชกรในการเฝ้าระวัง รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผลิตภัณฑ์สุขภาพของเขตสุขภาพที่ 10
3. เพื่อจัดฐานข้อมูล และระบบเชื่อมต่อรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพของเขตสุขภาพที่ 10
คำสำคัญ