ประวัติความเป็นมา

สภาเภสัชกรรม
ก่อตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537
ให้ไว้ ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2537 เป็นปีที่ 49 ในรัชกาลที่ 9

 ความเป็นมาการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
         การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ถือเป็นการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งผู้ที่จะประกอบอาชีพทางด้านนี้ได้จำเป็นจะต้องมีความรู้ทางด้านเภสัชศาสตร์  ในปี พ.ศ. 2456 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทรจึงได้ทรงวางรากฐานและก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ปรุงยาขึ้นในโรงเรียนราชแพทยาลัย โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งผู้ที่จบออกมาเรียกว่า “แพทย์ปรุงยา” และในปี พ.ศ. 2466 พระองค์ได้ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชาชีพนี้ต่อการประกอบโรคศิลปะ  จึงได้ทรงดำริถึงกฎหมายสำหรับคุ้มครองและควบคุมการประกอบวิชาชีพนี้ไว้ด้วย ในสมัยที่พระองค์ท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุขจึงได้จัดให้มี พระราชบัญญัติการแพทย์  พ.ศ. 2466 ขึ้น และต่อมาในปี พ.ศ. 2478 ก็ได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  1  ตุลาคม พ.ศ. 2480  โดยให้เหตุผลว่า ป็นการสมควรที่จะบำรุงมาตรฐานการประกอบโรคศิลปะให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสวัสดิการของประชาชน  และให้ยกเลิก พระราชบัญญัติการแพทย์ 2466 พระราชบัญญัติการแพทย์เพิ่มเติม พ.ศ. 2476  ตั้งแต่นั้นมาการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมและวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น เวชกรรม  ทันตกรรม  การพยาบาล จึงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งตั้งขึ้นโดยอาศัยความในมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้  คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะมีอำนาจหน้าที่สำคัญ เช่น  การรับขึ้นทะเบียน และออกใบอนุญาตแก่บุคคลซึ่งสมควรเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะตามความใน พระราชบัญญัติ สั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบโรคศิลปะ  ดังนั้นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจึงต้องขอขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะประกอบวิชาชีพได้  นอกจากนั้นยังมีกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติ ฉบับนี้ให้ผู้ประกอบโรคศิลปะทุกสาขาต้องรักษามรรยาทแห่งวิชาชีพ โดยไม่ประพฤติหรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นเหตุเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพของตน  และต้องไม่ประพฤติหรือกระทำการตามที่กำหนดไว้ในประกาศ 
      ด้วยเหตุผลที่การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน สาขาเภสัชกรรมอยู่ในความควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งมีคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะทำหน้าที่ควบคุมการประกอบโรคศิลปะสาขาต่าง ๆ ทั้งแผนปัจจุบัน และแผนโบราณ ในปัจจุบันวิชาการและเทคโนโลยีทางด้านเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมากประกอบกับจำนวนผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาเภสัชกรรมมีจำนวนมากขึ้น  เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้เห็นสมควรว่า ควรจะแยกการควบคุมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ โดยให้มีการตั้งสภาเภสัชกรรมแทนคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ  จึงได้มีการจัดสัมมาขึ้น ณ สวางคนิวาส เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2522  เพื่อเปิดให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่จะให้มีสภาควบคุมกันเอง และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2526 สมาคมก็ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ณ สโมสรกองทัพบก  และได้มีมติให้ร่าง พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรมขึ้นโดยมี ศ.ดร.ภก.บุญอรรถ  สายศร  เป็นประธานการจัดทำ ร่าง พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรมได้ดำเนินการมาอย่างเป็นขั้นตอน  จนในที่สุดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18  ปีที่ 1 ครั้งที่ 16 ลงมติรับหลักการ และท้ายสุดในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ก็ได้พิจารณาผ่านร่าง  พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม ร่างที่ผ่านมานี้ก็ได้ถูกดำเนินการต่อไปเพื่อประกาศเป็น พระราชบัญญัติ ซึ่งก็ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2537 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2537          ตั้งแต่นั้นมา การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ก็อยู่ภายใต้การควบคุมตาม พระราชบัญญัติ วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537  เภสัชกรผู้ที่ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมก็จะต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณ และข้อบังคับสภาเภสัชกรรมที่ว่าด้วยข้อจำกัด และเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพที่สภากำหนดไว้ 
         การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ได้มีการพัฒนาและวิวัฒนาการขึ้นมาตามลำดับ ตามความเจริญของศาสตร์ทางด้านนี้ และมีผู้ที่จบเภสัชศาสตร์ออกมาประกอบวิชาชีพในสาขาต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ได้มีการเลือกประกอบวิชาชีพตามสายงานต่าง ๆ แยกตามสาขาที่ตนสนใจและมีความต้องการอย่างชัดเจนซึ่งสายงานที่เภสัชกรส่วนใหญ่เลือกประกอบวิชาชีพ ได้แก่ เภสัชกรรมโรงพยาบาล เภสัชกรรมสมุนไพรการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ เภสัชกรรมอุตสาหการ การบริหารเภสัชกิจ และเภสัชกรรมชุมชน  

ประวัติสภาเภสัชกรรม
          สภาเภสัชกรรม เป็นองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม มีสถานะเป็นนิติบุคคล ก่อตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 ให้ไว้ ณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 111 ตอนที่ 28 ก 
          เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ “ในปัจจุบันวิชาการและเทคโนโลยีทางด้านเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก  ประกอบกับจำนวนผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาเภสัชกรรมมีจำนวนมากขึ้น  สมควรแยกการควบคุมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ  โดยจัดตั้งสภาเภสัชกรรมขึ้น ให้ทำหน้าที่ส่งเสริมและควบคุมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้โดยอิสระ เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้” 
          และในปี พ.ศ. 2558 ได้มีการออกพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ให้ไว้ ณ วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่า “วิชาชีพเภสัชกรรม” และ กำหนดให้ใบอนุญาตฯ ที่ออกหลังจากที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้มีอายุห้าปีนับจากวันที่ออกใบอนุญาต โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 132 ตอนที่ 21 ก 
          ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 กำหนดนิยามการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม  หมายความว่า “วิชาชีพที่เกี่ยวกับการกระทำในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การวิเคราะห์ยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา  การปรุงและจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ การปรุงยา การจ่ายยา การขายยา และการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยาและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยา การให้คำแนะนำปรึกษาและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา รวมทั้งการดำเนินการหารือร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการค้นหา ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา”
          ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2567 สภาเภสัชกรรม ก่อตั้งมาแล้ว 30 ปี และจะครบปีที่ 30 ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ดำเนินงานโดยคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม วาระที่ 10 (พ.ศ. 2565-2567) 

วัตถุประสงค์การก่อตั้งสภาเภสัชกรรม
(มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537)
 (1) ส่งเสริมการศึกษาการวิจัยและการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
 (2) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก
 (3) ผดุงไว้ซึ่งสิทธิ ความเป็นธรรมและส่งเสริมสวัสดิการให้แก่สมาชิก
 (4) ควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม
 (5) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการเภสัชกรรมและการสาธารณสุข
 (6) ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับการเภสัชกรรมและการสาธารณสุข
 (7) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย

อำนาจหน้าที่ของสภาเภสัชกรรม
(มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537)
 (1) รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
 (2) วินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา 42 วรรคสาม
 (3) รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรในวิชาเภสัชศาสตร์ หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพเภสัชกรรมของสถาบันต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการสมัครเป็นสมาชิก
 (4) รับรองหลักสูตรต่าง ๆ สำหรับการฝึกอบรมเป็นผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ ของวิชาชีพเภสัชกรรมของสถาบันที่ทำการฝึกอบรมเป็นผู้ชำนาญการในสาขาต่างๆ ของวิชาชีพเภสัชกรรม
 (5) รับรองวิทยาฐานะของสถาบันที่ทำการฝึกอบรมใน (4)
 (6) ออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาต่าง ๆ และออกหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพเภสัชกรรม
 (7) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาเภสัชกรรม

คณะกรรมการสภาเภสัชกรรม
(มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537) มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี ประกอบด้วย
 1) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับความเห็นชอบหรือได้รับอนุญาตจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ให้จัดตั้งขึ้นตามที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เสนอ จำนวนห้าคน
 2) กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้ง โดยเป็นผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข จำนวนสามคน จากกระทรวงกลาโหม จำนวนหนึ่งคน และจากกระทรวงมหาดไทย จำนวนหนึ่งคน
 3) กรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้ง โดยสมาชิกมีจำนวนเท่ากับจำนวนกรรมการใน 1) และ 2) รวมกัน

ตราของสภาเภสัชกรรม

 ตราของสภาเภสัชกรรม
ลักษณะเป็นรูปงูพันถ้วย ซ้อนเฉลงอยู่บนโล่รูปกลมรี เบื้องต้นมีอักษรไทยและตัวเลข "พ.ศ.๒๕๓๗" เบื้องล่างมีอักษรโรมันและตัวเลข "A.D. 1994" ที่ขอบด้านบนของโล่มีข้อความว่า "สภาเภสัชกรรม" และที่ขอบด้านล่างมีข้อความว่า "The Pharmacy Council"

นโยบายสภาเภสัชกรรม 
     คณะกรรมการสภาเภสัชกรรม วาระที่ 10 (พ.ศ. 2564-2567) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ คือ
“สภาฯ เข้มแข็ง วิชาชีพก้าวหน้า ชาวประชาวางใจ” 
โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้สภาเภสัชกรรม 4 ด้าน ดังนี้ 
   1. Great Pharmacist เภสัชกรแกร่ง ติดอาวุธให้เภสัชกร พร้อมรุก
   2. Great Profession วิชาชีพแกร่ง ประสานพลังร่วมสู่อนาคตแห่งการเปลี่ยนแปลง
   3. Great Social Trust บทบาทสังคมแกร่ง สังคมไทยไว้วางใจ เรื่องยาต้องเภสัชกร
   4. Great Council สภาฯ แกร่ง โปร่งใส รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

หน่วยงานในกำกับของสภาเภสัชกรรม 
   1. ศูนย์สอบความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
   2. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์
   3. ศูนย์พัฒนาการบริการทางวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม
   4. สำนักงานรับรองร้านยาคุณภาพ (สรร.)
   5. วิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย (วภท.)
   6. วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.)
   7. วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย (วภส.)
   8. วิทยาลัยเภสัชกรรมอุตสาหการแห่งประเทศไทย (วภอ.)
   9. วิทยาลัยเภสัชกรรมชุมชนแห่งประเทศไทย (วภช.)
   10. วิทยาลัยการบริหารเภสัชกิจแห่งประเทศไทย (วภบ.)

สถานที่ตั้งสภาเภสัชกรรม
อาคารมหิตลาธิเบศร ชั้น 8 กระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 88/19 หมู่ 4 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ 0 2591 9992 (คู่สายอัตโนมัติ) โทรสาร 0 2591 9996

หมายเลขภายในหน่วยงานต่าง ๆ
กด 1 ฝ่ายทะเบียนและใบอนุญาต
กด 2 ฝ่ายการศึกษาเภสัชศาสตร์
กด 3 ฝ่ายกฎหมาย
กด 4 ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์
กด 5 ศูนย์สอบความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียนฯ
กด 6 สำนักงานรับรองร้านยาคุณภาพ
กด 7 วิทยาลัยเภสัช
กด 0 ประชาสัมพันธ์ 

ช่องทางการติดต่อสภาเภสัชกรรม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ 
Website : https://www.pharmacycouncil.org 
Email : pharthai@pharmacycouncil.org 
Facebook : @thaipharmacycouncil 
Line Official : @pharmacycouncil  
TikTok : @pharmacycouncilthailand 
YouTube : @pharmacycouncil379